ลำปาง (คำเมือง:
) เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคเหนือตอนบน ตั้งอยู่ในแอ่งที่ราบล้อมรอบด้วยภูเขา มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ยาวนาน มีชื่อเรียกอย่างหลากหลายตั้งแต่ เขลางค์นคร, เวียงละกอน, นครลำปาง ฯลฯ ในภายหลังเป็นที่รู้จักกันดีอีกชื่อหนึ่งว่า เมืองรถม้า ที่สัมพันธ์กับเอกลักษณ์ของลำปาง
สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
สัญลักษณ์ที่ถูกเลือกให้เป็นตัวแทนจังหวัดลำปางในยุคหลังมาแล้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นการสร้างขึ้นภายใต้จังหวัดตามเขตการปกครองของกระทรวงมหาดไทย โดยเลือกสิ่งที่มีความโดดเด่นทั้งในด้านตำนาน ศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเข้ามาใช้เป็นตัวแทนของจังหวัดลำปาง- คำขวัญประจำจังหวัด : ถ่านหินลือชา รถม้าลือลั่น เครื่องปั้นลือนาม งามพระธาตุลือไกล ฝึกช้างใช้ลือโลก
- ตราประจำจังหวัด : ไก่สีขาวยืนอยู่ในซุ้มประตูพระธาตุลำปางหลวง
- ต้นไม้ประจำจังหวัด : ต้นกระเชาหรือในภาษาถิ่นว่า ขจาว (Holoptelea integrifolia)
- ดอกไม้ประจำจังหวัด : ดอกพุทธรักษาญี่ปุ่นหรือธรรมรักษา (Heliconia psittacorum)
- สัตว์น้ำประจำจังหวัด : ปลารากกล้วยชนิด Acantopsis choirorhynchos
สภาพภูมิศาสตร์
ลำปางตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มรอบล้อมด้วยหุบเขาจากทุกด้าน ทำให้มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มีแม่น้ำสำคัญคือ แม่น้ำวังที่มีต้นน้ำอยู่ที่ตอนเหนือ บริเวณอำเภอวังเหนือ ที่ไหลลงจากเหนือสู่ใต้ พื้นที่ราบที่กว้างใหญ่ที่สุดอยู่บริเวณตอนกลางนั่นคือ บริเวณอำเภอเมืองลำปาง อำเภอเกาะคา และอำเภอห้างฉัตรที่ตั้ง
จังหวัดลำปางมีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดอื่น ๆ เรียงตามเข็มนาฬิกา ดังนี้- ทิศเหนือ ติดกับ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา
- ทิศตะวันออก ติดกับ จังหวัดพะเยา แพร่ และสุโขทัย
- ทิศใต้ ติดกับ จังหวัดสุโขทัยและตาก
- ทิศตะวันตก ติดกับ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และตาก
ทิวเขาและภูเขา
พื้นที่ของภาคเหนือประกอบด้วยภูเขากระจายอยู่ 3 ใน 4 ของภาค นั่นได้ตัดแบ่งที่ราบลุ่มแม่น้ำให้กระจายออกจากกันไม่เป็นผืนใหญ่เหมือนที่ราบในภาคกลางหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดลำปางเป็นที่ราบ ที่อยู่ระหว่างทิวเขาผีปันน้ำ[3] ซึ่งเป็นทิวเขาที่มีลักษณะซับซ้อน โดยแนวของทิวเขาเอง ต่างเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายอยู่ทางซีกตะวันออกของภาคเหนือที่มาของชื่อ “ผีปันน้ำ” มาจากแหล่งต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสายที่แยกทิศทางกันไปได้แก่ แม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน ที่ไหลลงใต้สู่แม่น้ำเจ้าพระยา และกลุ่มแม่น้ำแม่ลาว น้ำแม่กก และน้ำแม่อิง ที่ไหลขึ้นเหนือไปลงแม่น้ำโขง[4]
ทิวเขาผีปันน้ำ ทอดตัวไปมาอย่างสลับซับซ้อน เริ่มจาก
- เส้นแบ่งเขตจังหวัดระหว่างอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ กับอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
- ทอดยาวไปทางทิศใต้ตามแนวเส้นแบ่งเขตจังหวัดระหว่างอำเภอไชยปราการและอำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ กับอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
- ถึงดอยผาโจ้ จึงหักกลับไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศเหนือ ตามแนวเส้นแบ่งเขตจังหวัดระหว่างอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย กับอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง
- แล้วหักวกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตามแนวเส้นแบ่งเขตจังหวัดระหว่างอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย กับอำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง และระหว่างอำเภอวังเหนือและอำเภองาว จังหวัดลำปาง กับอำเภอแม่ใจ อำเภอเมืองลำปางพะเยา และอำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา
- จากนั้นทิวเขาหักกลับไปทางทิศเหนือ ตามแนวเส้นแบ่งเขตอำเภอดอกคำใต้ อำเภอจุน และอำเภอเชียงคำ กับอำเภอเชียงม่วนและอำเภอปง จังหวัดพะเยา
- จนสิ้นสุดทิวเขาที่จุดบรรจบกับทิวเขาหลวงพระบาง รวมความยาวประมาณ 475 กิโลเมตร
ลุ่มน้ำ
อาจนับว่าลำปางประกอบด้วย ลุ่มน้ำวังและลุ่มน้ำงาว มีการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำวังออกเป็น 7 ลุ่มน้ำสาขา สรุปรายละเอียดได้ดังนี้ [6](1) ลุ่มน้ำแม่น้ำวังตอนบน มีพื้นที่ประมาณ 1,639.55 ตารางกิโลเมตร มีแหล่งต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาผีปันน้ำบริเวณดอยหลวง บ้านป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ที่อยู่ทางทิศเหนือของอำเภอวังเหนือ บริเวณตำบลวังแก้ว เขตติดต่ออำเภอวังเหนือกับอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ครอบคลุมพื้นที่อำเภอวังเหนือและอำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง รวมตำบลที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขาทั้งหมด 11 ตำบล มีลุ่มน้ำย่อยที่สำคัญ คือ ลุ่มน้ำแม่เย็นและลุ่มน้ำแม่ม่า
(2) ลุ่มน้ำแม่สอย มีพื้นที่ประมาณ 732.97 ตารางกิโลเมตร มีแหล่งกำเนิดมาจากเทือกเขาทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แนวเขตแดนจังหวัดลำปางกับเชียงใหม่ ลุ่มน้ำแม่สอยอยู่ในเขตพื้นที่ในอำเภอแจ้ห่มและอำเภอเมืองปาน รวมตำบลที่อยู่ในพื้นที่ 5 ตำบล มีลุ่มน้ำย่อยที่สำคัญ คือ ลุ่มน้ำแม่ปานและลุ่มน้ำแม่มอน
(3) ลุ่มน้ำแม่ตุ๋ย มีพื้นที่ประมาณ 809.38 ตารางกิโลเมตร มีแหล่งต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาในเขตอำเภอเมืองปาน ไหลจากทิศเหนือลงมาทางทิศใต้เข้าเขตอำเภอเมืองลำปางก่อนไปบรรจบกับแม่น้ำวังที่อำเภอเมืองลำปาง พื้นที่ลุ่มน้ำอยู่ในอำเภอเมืองปานและอำเภอเมืองลำปาง รวมตำบลที่อยู่ในพื้นที่ 4 ตำบล
(4) ลุ่มน้ำแม่น้ำวังตอนกลาง มีพื้นที่ประมาณ 2,077.07 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอห้างฉัตร อำเภอเมืองลำปาง อำเภอเกาะคา และอำเภอแจ้ห่ม มีลุ่มน้ำย่อยที่สำคัญ คือ ลุ่มน้ำแม่ยาว น้ำแม่ไพร น้ำแม่ตาล และน้ำแม่เกี๋ยง รวมตำบลที่อยู่ในพื้นที่ 33 ตำบล
(5) ลุ่มน้ำแม่จาง มีพื้นที่ประมาณ 1,626.86 ตารางกิโลเมตร เป็นลุ่มน้ำสาขาขนาดกลางที่สำคัญลุ่มน้ำหนึ่งของลุ่มน้ำวัง มีต้นกำเนิดมาจากดอยหลวงกับดอยผาแดง ซึ่งเป็นแนวสันปันน้ำกับลุ่มน้ำงาว ครอบคลุมพื้นที่อำเภอแม่ทะกับอำเภอแม่เมาะทั้งหมด มีทิศทางการไหลจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ไปบรรจบกับแม่น้ำวังที่บ้านสบจาง ในเขตอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง มีลุ่มน้ำย่อยที่สำคัญ คือ ลำน้ำแม่เมาะ ลำน้ำแม่ทะ และลำน้ำแม่วะ รวมตำบลที่อยู่ในพื้นที่ 15 ตำบล
(6) ลุ่มน้ำแม่ต๋ำ มีพื้นที่ประมาณ 755.75 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเสริมงาม มีแหล่งต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาเขตอำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง กับอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ไหลไปบรรจบแม่น้ำวังในเขตอำเภอสบปราบ มีลุ่มน้ำย่อยที่สำคัญ คือลุ่มน้ำแม่เลียงและน้ำแม่เสริม รวมตำบลที่อยู่ในพื้นที่ 4 ตำบล
(7) ลุ่มน้ำแม่น้ำวังตอนล่าง มีพื้นที่ 3,151.581 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเกาะคา อำเภอแม่ทะ อำเภอสบปราบ อำเภอเถิน อำเภอแม่พริก และพื้นที่ในเขตอำเภอบ้านตาก อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีลุ่มน้ำสาขาที่สำคัญ คือ ห้วยแม่พริกและห้วยแม่สลิด รวมตำบลที่อยู่ในพื้นที่ 22 ตำบล
ส่วนลุ่มน้ำงาวนั้นเป็นลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำยม
ลักษณะทางธรณีวิทยา
อาจมองผ่านภาพรวมของภาคเหนือ ที่พบว่ามีลักษณะทางธรณีวิทยาค่อนข้างสลับซับซ้อน มีการเคลื่อนไหวของเปลือกโลกอย่างรุนแรงมาหลายครั้ง ดังที่พบว่าพื้นที่บางส่วนถูกอัดดันยกตัวขึ้นเป็นทิวเขาและภูเขา เกิดการสึกกร่อนพังทลายของหิน และบางส่วนทรุดตัวต่ำลงไปเป็นแอ่งแผ่นดิน ทั้งยังเกิดการตกจมทับถมของโคลนตะกอน ซึ่งต่อมากลายเป็น “หินชั้น” หรือ “หินตะกอน”. [7] บริเวณเหล่านี้ประกอบด้วยหินอายุที่แตกต่างกันมาก ตั้งแต่มหายุคเก่าที่สุด (พรีแคมเบรียน เก่ากว่า 570 ล้านปีมาแล้ว) จนถึงมหายุคใหม่ที่สุด (ซีโนโซอิก 66.4 ล้านปีลงมา)รอยเลื่อนทางธรณีวิทยา
แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวหรือบริเวณตำแหน่งศูนย์กลางแผ่นดินไหวส่วนใหญ่จะอยู่ตรงบริเวณพื้นที่เสี่ยง จังหวัดลำปางวางตัวอยู่ท่ามกลาง รอยเลื่อนมีพลังที่นับได้ 2 รอยเลื่อน นั่นคือ รอยเลื่อนเถิน และรอยเลื่อนพะเยา- รอยเลื่อนเถิน อยู่ทางทิศตะตกของรอยเลื่อนแพร่ โดยตั้งต้นจากด้านตะวันตกของอำเภอเถินไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ขนานกับรอยเลื่อนแพร่ไปทางด้านเหนือ ของอำเภอเถินไปทางตะวันออกเฉียงเหนือขนานกับรอยเลื่อนแพร่ ไปทางด้านเหนือของอำเภอวังชิ้นและอำเภอลอง รวมความยาวทั้งหมดประมาณ 90 กิโลเมตร เคยมีรายงานการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.7 ริกเตอร์ บนรอยเลื่อนนี้ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2521
- รอยเลื่อนพะเยา ครอบคลุมจังหวัดลำปาง เชียงราย และพะเยา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น